การเลือกซื้อแรม (RAM)

Posted by KM IT วันศุกร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2553, under | 0 ความคิดเห็น


การเลือกซื้อแรมปัจจุบัน นอกจากจะต้องดูกันที่ความจุความเร็วแล้ว หลายคนยังมองไปที่สัปดาห์ที่ผลิต รวมถึงเม็ดแรมที่นำมาใช้อีกด้วย โดยเฉพาะกับบรรดาเซียนคอมพ์ทั้งหลาย ที่แทบจะเอากล้องส่งอพระมาส่องกันเลยทีเดียว แต่สิ่งเหล่านี้ คงต้องยกให้กับเหล่ามืออาชีพกันไป ส่วนผู้ที่กำลังมองหาไว้ใช้งานโดยทั่วไปแล้ว สำหรับการเลือกแรมมีหลักง่ายๆ เพียงไม่กี่ข้อ ไม่ยุ่งยาก เพียงแต่อาจใส่ใจอยู่บ้าง เริ่มตั้งแต่

ดูจากเมนบอร์ดที่ใช้อยู่
ปัจจุบันชัดเจนว่าแรมที่มีอยู่ในตลาดและใช้กันอยู่โดยทั่วไป มีอยู่ 3 รูปแบบคือ DDR, DDR2 และ DDR3 โดยที่แต่ละแบบก็ใช้งานกับแพลตฟอร์มต่างกันออกไป กล่าวคือ DDR (184-pins) จะทำงานร่วมกับชิปเซตรุ่นเก่าของทั้ง Intel ตระกูล 845, 865 และใน VIA P4M บางรุ่น สำหรับ AMD ก็มีตั้งแต่ nForce2, nForce3, GeForce 6100/6150 แต่เวลานี้ก็แทบจะลาจากตลาดไปอย่างถาวร ส่วนใหญ่จะถูกเปลี่ยนสำหรับการอัพเกรด ประกอบด้วย DDR400/333/266 (PC3200/2700/2100)
ส่วน DDR2 (240-pins) นับว่ายังคงเป็นแรมยอดนิยม ที่ยืนหยัดอยู่ในตลาดได้อีกนานพอสมควร ใช้กับชิปเซตทั้งหลายที่มีอยู่ ณ ปัจจุบันได้ ไม่ว่าจะเป็นค่ายอินเทล 915, 925, 945, 955, 965, 975, G31, G33, P35, X38 และ X48 รวมไปถึง 680i/ 780i ส่วนทาง AMD ก็ใช้ได้กับ nForce4, nForce 5xx Series, 690G, nForce 750/770/790FX Series ซึ่งก็มีให้เลือกตั้งแต่ DDR2 800/667/533 (PC6400/5300/4200) นับเป็นแรมที่มีราคาค่อนข้างถูก มีให้เลือกตั้งแต่แถวละ 512MB, 1GB และ 2GB
ล่าสุดกับ DDR3 (240-pins) ที่ยังถือว่าเป็นแรมที่มีประสิทธิภาพสูงพอสมควร รวมถึงราคาจำหน่ายด้วยเช่นกัน เนื่องจากยังไม่มีการสนับสนุนอย่างเต็มที่เท่าใดนัก ส่วนชิปเซตจากอินเทลจะมีเพียง X48 ที่รองรับการทำงานอย่างเต็มตัว แต่ผู้ผลิตก็ยังมีในแบบ DDR2 มาให้ใช้ด้วย ส่วนทาง AMDจะมีในรุ่น AMD 790i ที่เป็นรุ่นใหม่ล่าสุดเท่านั้น ที่ออกมารองรับการทำงานกับ DDR3 โดยจะมีความเร็วที่ DDR3 1333 และ DDR3 1066 (PC10600/8500)

เลือกที่ความจุและขนาดที่ต้องการ

ให้ดูจากปริมาณการทำงานและแอพพลิเคชันที่ใช้เป็นหลัก หากการใช้งานทั่วไปร่วมกับวินโดวส์เอ็กซ์พีแล้ว ความจุที่512MB ก็น่าจะเพียงพอต่อการใช้งาน แต่ถ้ามีความต้องการในเรื่องของเกมสามมิติและโปรแกรมตกแต่งภาพแล้ว ความจุที่มากกว่า 1GB จะช่วยให้มีความลื่นไหลมากขึ้น ส่วนถ้าหากจำนำไปใช้กับงานระดับ Workstation ความจุที่ 2-4GB ก็ดูจะเป็นขนาดที่เหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในช่วงที่แรม DDR2 ราคาถูกเช่นนี้ การอัพเกรดความจุให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะหาซื้อได้ ก็เป็นเรื่องที่ดีไม่น้อย



เลือกแบบ Single ความจุสูงแถวเดียวหรือ Dual ความจุเท่ากัน 2 แถวดี
ในความเป็นจริงทั้ง 2 แบบก็ถือว่าถูกเหมือนกัน แต่อาจต้องมาคิดคำนวณ ระหว่างราคากับประสิทธิภาพ ในปัจจุบันนี้ ต้องไม่ลืมว่าการทำงานในโหมด Dual Channel ที่เป็นแบบแรมสองแถวคู่ มีส่วนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพโดยรวมไม่น้อยกว่า 20% แต่นั่นหมายถึงมีอัตราค่าใช้จ่ายสูงกว่าการซื้อแรมแบบแถวเดียว ในความจุเท่ากัน อย่างเช่นกรณี Corsair VS 512MB x 2 (Kit) ราคา 460 บาท แต่ถ้า 1 GB แถวละ 730 บาท (เดือนมกราคม) แต่แบนด์วิดธ์ที่ได้จะต่างกัน การใช้แถวคู่ก็แน่นอนว่าจะต้องเสียสล็อตเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งช่อง การอัพเกรดก็น้อยลง ดังนั้นแล้วก็ควรจะพิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจ

องค์ประกอบอื่นๆ

ในส่วนขององค์ประกอบพิเศษก็คงหนีไม่พ้นเรื่องการระบายความร้อน ซึ่งหลายค่ายนิยมติด Heat Spreader ที่ช่วยในการระบายความร้อนมาให้ ซึ่งดูเหมือนว่าจะเพิ่มมูลค่าได้ไม่น้อยทีเดียว แต่อย่างไรก็ตามการติดฮีตชิงก์ให้กับแรมนี้ควรจะต้องมั่นใจว่ามีการระบายความร้อนที่ดีด้วยเช่นกัน เช่นการปรับทิศทางลมให้เหมาะสม ไม่เช่นนั้นอาจเกิดภาวะสะสมความร้อน จนเกิดอันตรายต่อแรมได้เช่นกัน แต่ปัจจุบันก็มีพัดลมสำหรับสล็อตแรมมาจำหน่ายเช่นกัน

การรับประกัน
ดูเหมือนว่าจะเป็นแรมอุปกรณ์ไม่กี่ชนิด ที่ใช้การรับประกันแบบ Life Time Warranty มาเป็นจุดขาย แต่ก็คงต้องทำความเข้าใจกับรูปแบบการรับประกันดังกล่าวนี้ด้วย การรับประกันตลอดชีพ จะหมายถึงการรับประกันไปจนถึงช่วงที่สิ้นสุดการผลิตของแรมรุ่นดังกล่าวเท่านั้น แต่ถ้าเกิดมีปัญหาหลังจากนั้น ทางผู้จัดจำหน่าย อาจให้เลือกเปลี่ยนเป็นรุ่นอื่น อาจเป็นรุ่นที่ดีกว่าหรือถูกกว่า รวมถึงในบางครั้งอาจต้องจ่ายส่วนต่างด้วย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจและการตกลงกันของผู้ซื้อและผู้จำหน่าย
ส่วนเงื่อนไขการรับประกันให้ตกลงกับผู้จำหน่ายให้เป็นที่เข้าใจ แต่ส่วนใหญ่การรับประกันจะไม่รวมไปถึง การแตกหักเสียหาย เม็ดแรมหลุดหรือบิ่น จะมีเพียงบางค่ายที่ยอมรับได้ในเรื่องการไหม้ รวมถึงการเก็บใบเสร็จหรือใบรับประกันไว้ให้เรียบร้อย สำหรับการยืนยันกับร้านค้า หากเกิดปัญหาในขั้นตอนการเคลม

ขอขอบข้อความจาก
http://www.bcoms.net/buycomputer/ram.asp

One Response to "การเลือกซื้อแรม (RAM)"